
เที่ยวประแสร์ ขี่สามล้อ คราดหอย กินแจงลอน นอนโฮมสเตย์
ประแสร์ ประสบการณ์ครั้งแรกกับการไปเที่ยวเชิงอนุรักษณ์กับ Local Alike
“เที่ยวประแสร์ ขี่สามล้อ คราดหอย กินแจงลอน นอนโฮมสเตย์ ”
ประแสร์ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และวิถีการใช้ชีวิตของชาวประมงในท้องถิ่น เริ่มต้นเดินทางจากกรุงเทพ ถึง จ.ระยอง ใช้ระยะเวลาโดยประมาณ 3 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ และแล้วเราก็มีถึง “ปากน้ำประแสร์ วิถีแห่งสายน้ำ งามล้ำประเพณี ร้อยกว่าปีเมืองประแสร์”
อากาศวันนี้ร้อนอบอ้าว แต่ก็หายร้อนไปทันทีจากการต้อนรับของชุมชนชาวประแสร์ น้ำกระเจี้ยบ กับขนมพื้นบ้าน เป็นคนไม่ชอบขนมหวานเท่าไหร่นัก แต่คุณขราอร่อยจังเลย ขออีกได้ไหม จำชื่อขนมไม่ได้เนื่องจากเพลิดเพลินกับการกิน กิน กิน และกิน อย่างเอร็ดอร่อย จนหูดับและจำไม่ได้ว่า ไกด์ของชุมชนพูดว่าอะไรบ้าง
หลังจากทานของว่างเสร็จเรียบร้อยเราก็เริ่มไปยังจุดเช็คอินแห่งแรกของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ประแสร์ นั่นก็คือศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลน แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศน์ และความเป็นอยู่ของสัตว์ต่าง ๆ ตามธรรมชาติ เช่นปูแสม กุ้ง และปลาตีน และความสวยงามของป่าโกงกางที่ให้ความร่มรื่นตลอดทางที่เดินเข้าไป
จากนั้นเราเดินทางต่อด้วยการนั่งสามล้อเพื่อชมวิถีชุมชนชาวปากน้ำประแสร์
และที่นี่ก็ยังมีพิพิธภัณฑ์วิถีชุมชนประแสร์ บ้านไม้หลังใหญ่กลางชุมชนที่แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนประแสร์ สถานที่ท่องเที่ยว และรูปภาพเล่าเรื่อง ๆ ต่างๆ ของชุมชน
สำหรับนักท่องเที่ยวที่หลงไหลการถ่ายภาพและรักงานศิลปะ ที่ชุมชนปากน้ำประแสร์เค้าก็มีสตรีทอาร์ตอยู่ในหลาย ๆ จุด ให้เหล่าฮิปสเตอร์ได้ถ่ายรูปเซลฟี่ และอัพเดทจุดเช็คอินลงโซเชียลกันด้วยนะ
จากนั้นเรานั่งสามล้อกันไปที่จุดเช็คอินจุดที่สามของชุมชนปากน้ำประแสร์ นั่นก็คือสะพานประแสสินและศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สถานที่ทุกคนนิยมมาสักการะทำความเคารพ เพื่อความเป็นมงคลแก่ชีวิต ไกด์พี่กบแนะนำว่า ท่านศักดิ์สิทธิ์มากนะคะ ขออะไรท่านให้แน่นอน ท่านชอบ ลูกปืน และประทัด
หลังจากสักการะบูชากรมหลวงชุมพรเสร็จเรียบร้อย เราก็แว๊นหลังสามล้อไปต่อกันเลย คราวนี้เราจะไปทำแจงลอนกันค่ะ อาหารประจำท้องถิ่นของชุมชนประแสร์ แจงลอนทำจากเนื้อปลา คลุกเคล้าเข้ากับสมุนไพรและเนื้อมะพร้าวอ่อน รวมถึงถั่วฝักยาว จากนั้นย่างไฟอ่อน ๆ เพียงไม่นานเราก็ได้ทานแล้วค่ะ
นอกจากเราจะได้เรียนรู้การทำแจงลอนแล้ว เรายังได้เรียนรู้การทำกะปิจากเคยด้วยนะคะ อยากรู้ว่าการทำกะปิต้องเริ่มจากตรงไหนก่อน ไปคะ ไปยกยอกันก่อนเลย
หลังจากสนุกกับการผจญภัยในชุมชนและเป็นเด็กแว๊นบนสามล้อกันแล้ว ตอนนี้ก็มาถึงเวลาที่เราจะต้องพักผ่อนกันสักเล็กน้อยแล้วค่ะ คืนนี้เราพักกันที่ กุ๊กกิ๊กโฮมเตย์ โฮมสเตย์สไตล์ลอฟดีไซน์ทันสมัย แต่ก็เข้ากับชุมชนประแสร์อย่างลงตัว
หลังจากพักผ่อนตามอัธยาศัยกันเรียบร้อยแล้ว คราวนี้เราจะไป “คราดหอย” กันค่ะ แค่ได้ยินว่าคราดหอยก็สนุกแล้วสิ ที่คิดไว้ในใจ ฉันต้องจับหอยได้เยอะแยะแน่ ๆ เลย เสื้อผ้าพร้อม อุปกรณ์พร้อม ไปค่ะลุยยยยย
เริ่มค่ะ จับไม้คราด เริ่มคราดหอยไปที่พื้นทรายทแยงมุม 45 องศา ตามหลักการเป๊ะ ๆ ลากไปค่ะ ลากไปเรื่อย ๆ ค่ะ ลากไปอีกค่ะ เวลาผ่านไป ห้านาทีทีมข้าง ๆ เย้!!!! ได้แล้ว เวลาผ่านไปอีกสิบนาที เย้!!!! ทีมข้าง ๆ ได้หอยอีกแล้ว เวลาผ่านไปสามสิบนาทีมองตัวเอง และตะกร้าของตัวเอง คราดหอยไปเรื่อยๆ คราดมาได้สักพักใหญ่ ๆ กางเกงเปิยกจนมาถึงเอวแล้ว หอยไปไหนหมด หรือเราทำบาปไม่ขึ้น ยังค่ะ ยังไม่ยอมแพ้ คราดไปต่อค่ะ น้ำเริ่มขึ้นสูงแล้ว ทีมอื่นเค้าได้เต็มตะกร้าแล้ว สรุปสิ่งที่คิดกับสิ่งที่เป็นจริง ต่างกันคนละขั้วเลย ซึ้งเลยกว่าชาวประมงเค้าจะคราดหอยได้สักตัวมันยากนะ เค้าจะขายแพงสักหน่อยก็คงไม่เป็นไรหรอก นี่คราดจนเจ็บบ่าแล้วยังไม่ได้สักตัวเลย ฮ่าๆๆ
หอยไม่ได้ไม่เป็นไร ทีมอื่นเค้าได้กัน เอามารวม ๆ กันแล้วก็ได้มื้อค่ำหนึ่งจานใหญ่กันเลยทีเดียว คราดหอยเสร็จเราก็ไปต่อกันที่ตลาดนัดตอนเย็นในชุมชนค่ะ
ที่ตลาดนัดก็จะมีทั้งอาหารทะเลสด ๆ อาหารที่ปรุงแล้ว อาหารทะเลตากแห้ง รวมถึงเสื้อผ้าของใช้ทั่ว ๆ ไป
ผจญภัยอย่างสนุกสนานกันมาตลอดทั้งวันแล้ว ก็ถึงเวลาอาหารค่ำค่ะ อาหารที่ทางโฮมสเตย์ และทางชุมชนเตรียมไว้ให้ เรียกว่าเยอะเต็มโต๊ะไปหมดทุกอย่าง นอกจากนี้แล้วทางแม่ๆ ในชุมชนยังมีการแสดง เต้นรำแบบพื้นบ้านเพิ่มความเพลิดเพลินในการรัปประทานอาหารยิ่งขึ้นไปอีก
จานไฮไลน์ค่ะ หอยขาวที่คราดมาได้เมื่อเย็นนี้ ผัดหอยขาว หอยขาวผัดน้ำพริกเผา
หลังจากทานอาหารค่ำเรียบร้อยก็ถึงเวลานอนค่ะ หนังท้องตึง หนังตาเริ่มหย่อนในทันที
ปากน้ำประแสร์ วันที่สอง
ตื่นตั้งแต่ 5.30น. ตั้งใจว่าจะเดินออกไปสำรวจชุมชนในยามเช้าและอยากเก็บภาพพระอาทิตย์ขึ้น เดินออกมาจากโฮมสเตย์ ร้านค้าทั้งสองฝั่งของถนนเพิ่งจะทยอยเปิด เราตัดสินใจเดินไปทางซ้าย หวังว่าคงจะเห็นพระอาทิตย์ขึ้น แต่เดินไปสักพัก เริ่มเอะใจว่าเดินมาผิดทางแน่เลย งั้นขอถ่ายภาพทั่ว ๆ ไปของชุมชนดีกว่า
ถ่ายรูปได้ไม่เยอะสักเท่าไหร่ ตั้งใจจะเดินต่อไปให้เรื่อย ๆ แต่เจอพี่หมาเจ้าถิ่นเห่าไล่ซะงั้น เดินกลับก็ได้ ชิส์
พอเดินกลับมาที่ โฮมสเตย์พระก็เดินผ่านมาพอดี เสียดายจังอดใส่บาตร แต่ไม่เป็นไรคราวหน้ามาจะไม่พลาดเลย สาธุค่ะ
วันนี้มื้อเช้าเรามีกาแฟ โอวัลติน ปาท่องโก๋และข้าวต้ม
หลังจากทานอาหารเช้าเสร็จเรียบร้อย ฝนก็โปรยปรายลงมา นึกว่าจะอดไปชมทุ่งโปรงทองซะแล้ว แต่สักพักฝนก็หยุดตก เราก็แว๊นกันบนสามล้อไปที่ทุ่งโปรงทองกันค่ะ ทางเข้าทุ่งโปรงทองมีร้านขายของอยู่สักสองสามร้าน มีอาหารทะเลแห้ง อาหารทะเลสด ผลไม้ และอาหารที่พร้อมทานได้เลย ตรงนี้เราสามารถซื้ออาหารทะเลเป็นของฝากกลับบ้านได้นะคะ
ทุ่งโปรงทอง บนพื้นที่กว่า 6000 ไร่ มีสะพานไม้ทอดยาวระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร ทะลุไปถึงทะเลประแสร์ ความสวยงามของไม้โปรงที่เป็นสีเขียวเหลืองจนคล้ายสีทองขึ้นหนาแน่นอยู่เต็มพื้นที่ จุดเช็คอินที่ต้องไม่พลาดเมื่อมาเที่ยวที่ชุมชนปากน้ำประแสร์แห่งนี้
จากนั้นเราลงเรือต่อเพื่อไปศึกษาทางธรรมชาติสองฝั่งน้ำที่เรียงรายด้วยต้นโกงกาง ตามเส้นทางของปากน้ำประแสร์
และแล้วเราก็มาถึงจุดเช็คอินสุดท้ายของทริป 2 วัน 1 คืนกับ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษณ์ที่ชุมชนปากน้ำประแสร์
วิสาหกิจชุมชนชาใบขลู่
สินค้าขึ้นชื่อของชุมชนชาวประแสร์ ที่เกิดขึ้นมาจากภูมิปัญญาท้องถื่นของคนในชุมชน วันนี้เราได้พบกับลุงโลม ผู้ริเริ่มการทำชาใบขลู่ เราได้ความรู้มากมายจากการพูดคุยและได้ลองทำขั้นตอนต่าง ๆ ของการผลิตชาจากใบขลู่ พืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา คือ บรรเทาโรคเบาหวาน ลดไขมันในเส้นเลือด ขับปัสสาวะ ได้รับการรับรองทางวิชาการว่าเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา และมีประโยชน์ต่อร่างกาย
ขั้นตอนการทำชาใบขลู่ สูตรนี้ไม่มีหวงค่ะ
1. นำใบขลู่ล้างน้ำให้สะอาด เลือกใบขลู่ที่มีลักษณะสมบูรณ์ ใบใหญ่สักหน่อย
2. นำใบขลู่ที่ล้างแล้วนึ่งประมาณ 3 – 5 นาทีพอสุก เพื่อรักษาความสวยงามของใบสีเขียวไว้
3. ผึ่งลมหรือแดดอ่อนๆ ประมาณ 10 ถึง 15 นาที ให้แห้ง
4. คั่วในกระทะ ไฟเบาถึงไฟกลาง โดยใช้มือคนคั่วให้แห้ง ประมาณ 30 นาที
5. เสร็จแล้ว นำเข้าตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ หรือตู้อบแก๊สให้แห้ง
6. บรรจุใส่ถุงพลาสติก ซีลปิดปากถุงให้สนิท นำไปชงดื่ม หรือจะนำไปจำหน่ายก็ได้ค่ะ
สำหรับใครที่ต้องการมาท่องเที่ยวเชิงอนุรักษณ์ธรรมชาติที่ ชุมชนปากน้ำประแสร์ สามารถติดต่อกับคุณแต๋ม โทร. 085-120-8014 จะสอบถามเส้นทาง หรือต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวได้เลยนะคะ การเดินทางก็ไม่ยากเท่าไหร่นัก
การเดินทางมาชุมชนปากน้ำประแสร์
นั่ง รถตู้ กรุงเทพ – จันทบุรี ลงที่สามแยกประแสร์ จ้างรถท้องถิ่น หรือรถมอเตอร์ไซน์เข้าไป หรือจะโทรหาคุณแต๋มก็ได้นะคะ จะมีรถออกมารับค่ะ
ที่พัก กุ๊กกิ๊กโฮมสเตย์ ติดต่อ Facebook
Read in English version :
Life less ordinary in Prasae
Life of a fishing village in Prasae
The art of krill fishing in Prasae

